
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรักษาโรคร้ายนี้จะรู้สึก "ดีขึ้น"เมื่อเล่นโยคะ
"ตามความคิดของพวกเราเชื่อว่าการเล่นโยคะแบบง่ายๆ และใช้ช่วงเวลาแค่สั้นๆ ไม่นานมาก จะมีประโยชน์มากต่อการช่วยลดปัญหาอาการข้างเคียงที่ผู้ป่วยอาจเจอระหว่างเข้ารับการฉายรังสี" ลอเรนโซ่ โคเฮน นักจิตวิทยา ผู้ริเริ่มการทดลองชิ้นนี้กล่าว
การเล่นโยคะ เป็นการผสมผสานกันระหว่าง การทำสมาธิ, การผ่อนคลาย, จินตนาการ, การควบคุมลมหายใจ, การยืดเส้น และเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งถึงแม้ว่า การทดลองนี้ยังเป็นเพียงการทดลองเล็กๆ และเป็นเพียงขั้นเริ่มต้น แต่โคเฮนก็ว่านี่เป็นหนึ่งในการทดลองที่มีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้นที่ทำการทดสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในการทดลองที่โคเฮนร่วมกันทำกับทีมนักวิจัยของศูนย์โรคมะเร็ง เอ็ม.ดี.แอนเดอร์สัน แคนเซอร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ในสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 61 คนที่ผ่านการผ่าตัด และกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนรับการฉายรังสีเป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ให้กลุ่มผู้ป่วย 30 คนต้องเข้าคลาสเล่นโยคะสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนกลุ่มที่เหลือไม่ต้องเล่นโยคะ
หลังจากนั้น พอครบ 6 สัปดาห์ ทีมงานวิจัยก็จะให้กลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดตอบแบบสอบถาม ที่จะถามรายละเอียดต่างๆ อาทิ ความสามารถในการยกข้าวของ เครื่องใช้,ความสามารถในการเดินเป็นระยะทาง 1.6 กิโลเมตร รวมทั้งความสามารถในการทำกิจกรรม หรือสิ่งต่างๆ แล้วยังเรื่องความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย, อารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตต่างๆ โดยตั้งคะแนนของแบบสอบถามมีตั้งแต่ 1-100 คะแนน
แล้วผลลัพธ์ที่ทีมวิจัยพบก็คือ กลุ่มผู้ป่วยที่เล่นโยคะจะได้ "คะแนนสูง" ในเกือบทุกเรื่องทุกหัวข้อ แทบจะสรุปได้ว่าประสิทธิภาพความสามารถทางร่างกายของผู้ป่วยได้คะแนนสูงถึง 82 คะแนน ขณะที่กลุ่มไม่เล่นโยคะได้คะแนนเพียง 69 คะแนน
ทั้งนี้ ผลการทดลองบอกว่า กลุ่มผู้ป่วยที่เล่นโยคะต่างบอกว่าพวกเธอรู้สึกเลยว่า สุขภาพโดยทั่วไปดีขึ้น รู้สึกอ่อนเพลียน้อยลง และหลับช่วงกลางวัน ไม่บ่อยนัก
แต่ในเรื่องของความรู้สึกซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ทีมงานเล่าว่าไม่พบความแตกต่างใดๆ ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยทั้งสอง

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น