วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เตือนภัย กินแล้วนอน ... โรคกรดไหลย้อน อาจถามหา

กรดไหลย้อน คือ ภาวะที่น้ำกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร และในบางรายอาจไหลย้อนขึ้นมาถึงคอ และกล่องเสียงได้ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะรูปแบบการดำรงชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป เกิดความเครียด มีความเร่งรีบในการทำงานทำให้ผู้คนนิยมรับประทานอาหารจานด่วนที่อุดมไปด้วยไขมัน คาร์โบไฮเดรต และแคลอรี่สูง รวมทั้งการแพทย์ที่ก้าวหน้า และเครื่องมือที่ทันสมัยทำให้สามารถตรวจ และวินิจฉัยโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้นด้วยภาวะนี้เกิดเนื่องจากพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อหูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ อาการสามารถเกิดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะเริ่มต้นอาจไม่รู้สึกว่ามีความผิดปกติหรือมีอาการแต่อย่างไร และผู้ป่วยบางรายอาจไม่เคยมีอาการของโรคกระเพาะหรือรักษาโรคกระเพาะมาก่อนเลยก็ได้น้ำกรดจะระคายเคืองหลอดอาหารทำให้เยื่อบุอาหารเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยจะเจ็บในอก รู้สึกแสบร้อนในอกได้โดยเฉพาะเวลาเรอ นอกจากนั้นกรดยังสามารถระคายเคืองกล่องเสียงและคอหอยได้ด้วย ซึ่งอาการที่บริเวณคอหอยและกล่องเสียง คือ
1.เสียงแหบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง โดยเฉพาะเสียงแหบในเวลาเช้า
2.รู้สึกขมในปากและคอหลังจากตื่นนอนใหม่ๆ
3.คอและกล่องเสียงอักเสบบ่อยๆ รักษาหายได้ไม่นานก็กลับมาเป็นใหม่อีก
4.ระคายคอ และกระแอมบ่อยๆ รู้สึกว่าคอไม่โล่ง
5.ไอเรื้อรัง แต่พบว่าปอดปกติดี
6.กลืนอาหารลำบาก กลืนติดๆ กลืนไม่ลง กลืนแล้วเจ็บในคอ
7.ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรจุกๆ ในคอ ลมหายใจมีกลิ่น มีกลิ่นปาก
8.มีเสมหะในคอจำนวนมาก
9.รู้สึกว่าเหมือนมีเสมหะไหลลงคออยู่เรื่อยๆผู้ป่วยบางท่านอาจมีแค่อาการใดอาการหนึ่ง ในขณะที่บางท่านอาจมีหลายๆ อาการร่วมกันได้ อาการต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่ามีเนื้องอก หรือก้อนมะเร็งในคอ ทั้งนี้เมื่อทำการตรวจวินิจฉัยแล้วแพทย์ไม่พบก้อนเนื้อเหล่านั้นเลย กรณีนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ วิตกกังวลและยิ่งเกิดความเครียดมากขึ้น


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน คือ


โรคกระเพาะที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และต่อเนื่อง
การสูบบุหรี่
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อคโกแลต


การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง รสจัด หรือมีส่วนประกอบของมะเขือเทศในปริมาณมาก
การเข้านอนหลังรับประทานอาหารเสร็จ 2 -3 ช.ม.
ภาวะโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
การสวมเสื้อผ้าที่คับแน่น ก็มีผลทำให้เกิดโรคนี้ได้
การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาหวัดบางชนิด เป็นต้น


การตรวจวินิจฉัยภาวะกรดไหลย้อนนั้นแบ่งได้เป็น 2 อย่างด้วยกัน คือ การตรวจด้วยกระจกที่ใช้สำหรับตรวจกล่องเสียงและคอโดยเฉพาะ และการตรวจด้วยการส่องกล้อง ซึ่งการส่องกล้องนั้นแยกได้ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ


ส่วนที่ 1 คือ การส่องกล้องเพื่อตรวจดูตั้งแต่ลำคอจนถึงกล่องเสียง
ส่วนที่ 2 คือ การส่องกล้องเพื่อดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร

การส่องกล้องดูลำคอและกล่องเสียงนั้น สามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ใช้เวลาไม่นาน ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรมา (ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร)
ส่วนการส่องกล้องดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหารนั้น ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวโดยงดน้ำและอาหารมาก่อน เนื่องจากต้องมีการใช้ยาชา หรือวางยาสลบ และเพื่อที่จะได้ไม่มีเศษอาหารในกระเพาะอาหารมารบกวนขณะที่ทำการส่องกล้อง
ในผู้ป่วยบางรายพบว่ามีอาการในอกคล้ายกับผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด จึงทำให้อาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น การกลืนแป้ง การเอ็กซ์เรย์ หรือเอ็กซ์เรย์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้ก็ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือทรมานต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด
สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะกรดไหลย้อนนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง

แนวทางที่ 1 : แพทย์จะให้คำปรึกษาและแนะนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างที่มีผลต่อโรคนี้ เช่น ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่แพทย์จะแนะนำให้งดสูบ ในผู้ป่วยที่ชอบรับประทานอาหารปริมาณมากๆ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารแค่พอดี ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากแพทย์จะแนะนำให้งดอาหารรสจัดจำพวกเผ็ดและเปรี้ยว รวมทั้งอาหารที่มีไขมันสูงและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ ช็อคโกแลต) และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย รวมทั้งลดอาหารที่มีส่วนประกอบของมิ้นท์ และมะเขือเทศจำนวนมาก

แนวทางที่ 2 : คือ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อควบคุมการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งในปัจจุบันยามีอยู่หลายกลุ่ม และกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ ก่อนใช้ยา และไม่ควรซื้อยาลดกรดรับประทานเอง เนื่องจากยานั้นๆ อาจไม่เหมาะสมกับสภาวะที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่

แนวทางที่ 3 : คือ ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นและไม่ตอบสนองต่อการรักษา 2 แนวทางแรก แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารนั้นกระชับขึ้น

ภาวะกรดไหลย้อนนั้น ควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมและต่อเนื่อง การรับประทานยาเฉพาะเวลาที่มีอาการหรือเฉพาะตอนที่เป็นมากๆ มักไม่เพียงพอที่จะทำให้หายได้ และเมื่อรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วให้ต่อเนื่อง เพราะโรคนี้อาจย้อนกลับมาก่อความรำคาญให้ผู้ป่วยได้อีกเรื่อยๆ ถ้าผู้ป่วยยังมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นอยู่เมื่อใดที่ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ท่านไม่ควรนิ่งนอนใจหรือละเลยที่จะตรวจและรักษา หรือดูแลร่างกาย เนื่องจากพบว่าภาวะน้ำกรดไหลย้อนมีส่วนสัมพันธ์กับมะเร็งของกล่องเสียง และมะเร็งของหลอดอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีอาการของโรคนี้มานานเกิน 5 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น